การสร้างบ้านจาก
ตู้คอนเทนเนอร์
การมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังคือความฝันของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะบ้านที่ได้ออกแบบเอง เพราะสามารถจัดแจงพื้นที่ เลือกของตกแต่ง วางแนวทางในบ้านให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชีวิตของเราได้ ยิ่งอยู่ก็ยิ่งมีความสุข แต่การสร้างบ้านในฝันสักหลังก็ต้องเตรียมการมากมาย กินระยะเวลาและงบประมาณในการก่อสร้าง หรือถ้าจะเลือกซื้อบ้านให้ตรงใจไปเสียทุกอย่างก็อาจจะใช้เวลานาน เราจึงขอแนะนำให้รู้จักกับ บ้าน ตู้คอนเทนเนอร์ ทางเลือกสำหรับคนอยากมีบ้านในงบประมาณหลักแสน แต่สามารถออกแบบได้เองตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย
ทำความรู้จักกับ
ตู้คอนเทนเนอร์

ตู้คอนเทนเนอร์ (Container Box) คือ ตู้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ที่ผลิตด้วยเหล็ก ภายในใช้บรรจุสินค้าสำหรับการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้ระยะเวลานานอย่างน้อย 15 วัน จึงเป็นตู้ที่มีความแข็งแรงและรองรับน้ำหนักที่สามารถซ้อนกันได้อย่างน้อย 10 ชั้น มีประตูเปิด-ปิดแข็งแรง มิดชิด เพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าได้คราวละมากๆ โดยที่สินค้าไม่ได้รับความเสียหาย
ประเภทของ
ตู้คอนเทนเนอร์
- ตู้คอนเทนเนอร์แบบ Dry Box (Dry Cargoes)
ตู้คอนเทนเนอร์สำหรับใส่สินค้าทั่วไปที่ไม่ต้องการรักษาอุณหภูมิ มีหลายขนาด เลือกใช้ตามความเหมาะสมของสินค้าที่ต้องการขนส่ง สามารถบรรจุได้ตั้งแต่ อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง เสื้อผ้า ไปจนถึง เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางรถยนต์ กระเป๋าเดินทาง โดยสินค้าที่ขนส่งโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์แบบ Dry Box ต้องมีการทำที่กั้นเพื่อป้องกันสินค้าเคลื่อนที่จนเกิดความเสียหายด้วย
- ตู้คอนเทนเนอร์แบบ Reefer (Refrigerator Cargoes)
ตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็น สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ได้ โดยจะมีที่วัดอุณหภูมิแสดงให้เห็นสถานะของอุณหภูมิของตู้สินค้า เหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าที่ต้องการการรักษาอุณหภูมิที่คงที่ เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผลไม้ ไอศกรีม ช็อคโกแลต ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์บางประเภท สารเคมีในห้องทดลอง
- ตู้คอนเทนเนอร์แบบ Open Top
ตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่มีหลังคา สำหรับใช้ในการวางสินค้าขนาดใหญ่มีความสูงเกินกว่า 2.7 เมตร ซึ่งไม่สามารถเคลื่อนย้ายผ่านประตูตู้ได้ โดยส่วนใหญ่ตู้คอนเทนเนอร์แบบนี้จะมีขนาด 40 ฟุต ใช้ขนส่งเครื่องจักร ท่อ วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ หรือยานพาหนะที่มีลักษณะสูงเป็นพิเศษ
- ตู้คอนเทนเนอร์แบบ Flat Rack
ตู้คอนเทนเนอร์ที่มีพื้นราบ เปิดโล่งทั้งด้านบนและด้านข้าง มีขนาดกว้างและยาวตามมาตรฐานตู้คอนเทนเนอร์ มีฐานพื้นสำหรับใส่สินค้าที่มีขนาดใหญ่ กว้างหรือสูงเป็นพิเศษ มีทั้งขนาด 20 ฟุต และ 40 ฟุต เหมาะสำหรับขนส่งเครื่องจักร แท่งหิน ประติมากรรม รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ ท่อชนิดต่างๆ
- ตู้คอนเทนเนอร์แบบ Garment
ตู้คอนเทนเนอร์ที่ออกแบบสำหรับใช้ขนส่งเสื้อผ้าที่ไม่ต้องพับหรือบรรจุหีบห่อ โดยภายในตู้จะมีราวไว้สำหรับแขวนเสื้อผ้า เพื่อป้องกันการยับระหว่างขนส่ง
- ตู้คอนเทนเนอร์แบบ Ventilated
ตู้คอนเทนเนอร์ที่ออกแบบให้มีช่องระบายอากาศ ใช้สำหรับขนส่งสินค้าทางการเกษตรโดยเฉพาะ
- ตู้คอนเทนเนอร์แบบ Tank (ISO Tank)
ตู้คอนเทนเนอร์ที่ออกแบบมาให้ภายในเป็นเหมือนถังบรรจุของเหลว สามารถบรรจุของเหลวได้มากกว่าการบรรจุใส่ถังธรรมดา และสามารถขนย้ายได้ง่ายกว่า ใช้ขนส่งของเหลวทั่วไปและของเหลวที่เป็นสารอันตรายได้

ตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ เมื่อใช้งานไประยะเวลาหนึ่งจะถูกปลดระวาง กลายเป็นตู้คอนเทนเนอร์มือสอง สามารถนำมาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ได้ เช่น ตู้สำนักงาน ตู้ออฟฟิศ ตู้ร้านค้า
รวมถึงบ้านตู้คอนเทนเนอร์ เพราะแม้จะมีอายุการใช้งานสูงแต่ยังมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน และมีขนาดใหญ่พอที่จะเป็นพื้นที่สำหรับคนอยู่อาศัยได้
อยากสร้างบ้าน ตู้คอนเทนเนอร์ต้องทำยังไง ?
การเริ่มต้นสร้าง บ้าน ตู้คอนเทนเนอร์ ต้องมีการวางแผนลักษณะเดียวกับการสร้างบ้านทั่วไป คือเลือกที่ดิน ออกแบบ วางแปลน และก่อสร้าง เพียงแต่บ้านจากตู้คอนเทนเนอร์ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างลงบนผืนดินที่เลือกไว้โดยตรง
เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์สามารถขนส่งและเคลื่อนย้ายได้ ทำให้สามารถแยกกันก่อสร้างตัวบ้านและฐานรากได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับเหมาที่รับผลิตตู้ประเภทนี้โดยเฉพาะให้เรียกใช้บริการ เพียงระบุความต้องการและงบประมาณ ก็สามารถวางแผนผลิตได้ทันที หรือถ้าหากยังไม่มีรูปแบบที่ชอบก็สามารถพูดคุยสอบถามเพื่อขอคำแนะนำได้
ขั้นตอนหลักในการสร้างบ้านตู้คอนเทนเนอร์ มีดังนี้
1.เลือกขนาดตู้คอนเทนเนอร์
โดยพิจารณาจากความต้องการขนาดบ้าน ทั้งความกว้าง ความยาว และความสูงของเพดานบ้าน โดยขนาดหลักๆ ที่จะนำมาใช้สร้างบ้านจะมี 3 ขนาด
- ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต (ยาว 6 เมตร กว้าง 2.5 เมตร สูง 2.5 เมตร)
- ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต (ยาว 12 เมตร กว้าง 2.5 เมตร สูง 2.5 เมตร)
- ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40’HC (ยาว 12 เมตร กว้าง 2.5 เมตร สูง 2.8 เมตร)
2.ออกแบบบ้าน
ขั้นตอนนี้สามารถออกแบบได้ตามใจชอบ โดย บ้านตู้คอนเทนเนอร์ สามารถวางแผนการเดินระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ระบบป้องกันอัคคีภัย รวมถึงการติดตั้งสัญญาณป้องกันขโมยได้เหมือนบ้านทั่วไป
3.ก่อสร้าง
ขั้นตอนนี้นอกจากจะเป็นการลงมือผลิตบ้านจากตู้คอนเทนเนอร์ตามแพลนที่วางไว้ ยังมีกระบวนการเช็คฐานรากเพื่อเตรียมพื้นที่ให้เหมาะสมกับการวางบ้าน ซึ่งสามารถแยกทำทั้งสองกระบวนการนี้ไปพร้อมกันได้เลย ไม่จำเป็นต้องเริ่มสร้างฐานบ้านก่อนแล้วค่อยสร้างบ้าน
4.ย้ายบ้านตู้คอนเทนเนอร์ลงที่ดิน
โดยเคลื่อนย้ายผ่านระบบขนส่ง ซึ่งทางผู้รับเหมาจะเป็นผู้จัดการเตรียมพื้นที่ให้เรียบร้อยสำหรับส่วนนี้ รวมถึงเตรียมพื้นที่ไว้รองรับต่อเติมภายนอกที่อาจตามมาในอนาคต ทั้งนี้ หากเจ้าของบ้านต้องการต่อเติมบ้าน ควรปรึกษาผู้รับเหมาเพื่อคำนวณการรับน้ำหนักในพื้นที่
ฟังรายละเอียดเพิ่มเติม
สร้างบ้านจากตู้คอนเทนเนอร์
ข้อดีของบ้านตู้คอนเทนเนอร์
- สามารถออกบ้านแบบได้เองตั้งแต่โครงสร้างไปจนถึงการเดินระบบต่างๆ ภายในบ้าน สามารถอยู่อาศัยได้ไม่ต่างจากบ้านทั่วไป
- ราคาถูกกว่าการสร้างบ้านปกติ โดยเฉพาะเรื่องราคาวัสดุก่อสร้าง เพราะ ตู้คอนเทนเนอร์มือสอง มีช่วงราคาขึ้นลง
- ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างน้อยกว่าบ้านปกติ คืออยู่ที่ประมาณ 45 – 60 วัน ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณในส่วนค่าจ้างแรงงานก่อสร้างลงไปด้วย
- บ้านแข็งแรง ทนทาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของผู้อยู่อาศัย